ทุกวันนี้เมืองใหญ่ ๆ ทั่วโลกมีการรณรงค์ให้ใช้ระบบขนส่งมวลชนกันมากขึ้น แทนการใช้รถยนต์ส่วนตัว เนื่องจากปัญหาการจราจรที่ติดขัด และการเห็นความสำคัญของภาวะโลกร้อน ทำให้เมืองหลวงต่าง ๆ นอกจากจะมีการก่อสร้างรถไฟฟ้าแล้ว ยังมีการคิดค้นรูปแบบการเดินทางเชื่อมต่อไปยังสถานีรถไฟฟ้าในส่วนของกรุงเทพมหานคร ที่มีปัญหาการจราจรติดขัดเป็นระดับต้น ๆ ของโลก การเดินทางด้วยรถไฟฟ้าจึงเป็นทางเลือกที่สำคัญ แต่เส้นทางรถไฟฟ้าในปัจจุบันยังอยู่บนถนนสายหลักและระยะทางไม่ครอบคลุมพื้นที่มากนัก ดังนั้นการเดินทางเชื่อมต่อไปให้ถึงรถไฟฟ้ายังไม่มีความสะดวก ต้องอาศัยรถสองแถว รถเมล์ แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องรถติด ในขณะที่บางรายใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้าง แต่ก็ต้องจ่ายค่าโดยสารในอัตราที่สูง ดังนั้น กทม. จึงมีแนวคิดที่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนด้วยการทำ “ระบบเช่าจักรยานสาธารณะ” ขึ้น
ถือเป็นทางเลือกในการเดินทางรูปแบบใหม่ ที่ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ประหยัดพลังงาน ช่วยลดภาวะโลกร้อน ส่งเสริมสุขภาพ และเข้าถึงได้ในทุกพื้นที่ ในภาวะการจราจรที่ติดขัดให้ไปถึงจุดหมายได้รวดเร็วนั้น ก็คือการทำระบบให้เช่าจักรยานสาธารณะ ซึ่งในเมืองใหญ่ทั่วโลกมีการทำโครงการให้เช่าจักรยานกันมานานแล้ว เช่น ปารีส มีรถจักรยานให้เช่าถึง 20,000 คัน บาร์เซโลนา มีให้เช่า 6,000 คัน โคเปนเฮเกน มีให้เช่า 2,000 คัน เบอร์ลินมีให้เช่า 2,000 คัน เป็นต้นโครงการนี้ กรุงเทพมหานคร ได้ให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหาจักรยานและการให้บริการ นำร่องใน 2 จุด คือ สถานีจามจุรีสแควร์ และ สถานีสยาม โดยมีจำนวนจักรยาน ให้บริการ 100 คัน โดยมีเจ้าหน้าที่ประจำสถานีดูแลรถจักรยานและนำรถจักรยานมาเติมให้ผู้ใช้บริการตลอดเวลา ซึ่งจุดที่ติดตั้งเป็นจุดที่เชื่อมที่อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส คือสถานีสยาม ส่วนอีกจุดใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินคือ สถานีสามย่าน ซึ่งผู้เช่าจะสามารถเลือกเช่าจักรยานจากจุดบริการหนึ่ง เพื่อนำไปใช้แล้วส่งคืนยังจุดบริการใดก็ได้ ที่ใกล้กับจุดหมายปลายทางของผู้ใช้เส้นทางมากที่สุด
การใช้บริการ ผู้เช่าจะต้องซื้อบัตรสมาร์ทการ์ด (smart card) มูลค่า 320 บาท โดยแบ่งเป็น 220 บาท คือมูลค่าบัตรและการเป็นสมาชิก ส่วนอีก 100 บาท คือมูลค่าที่สามารถใช้เพื่อการยืมรถจักรยาน โดยสมาชิกจะมีอายุ 1 ปี ค่าต่ออายุสมาชิก 100 บาท ต่อปี ส่วนสิทธิประโยชน์ที่สมาชิกจะได้รับ มีวงเงินการประกันอุบัติเหตุอันเกิดจากการใช้รถจักรยาน มูลค่า 50,000 บาท มีค่ารักษาพยาบาลตามจริง แต่ไม่เกินครั้งละ 5,000 บาท และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ในอนาคต ซึ่งหลังจากมีบัตรสมาร์ทการ์ดแล้ว ก็นำไปใช้ในการยืม-คืน จักรยาน ตรวจสอบยอดเงิน เติมเงิน และในอนาคตจะสามารถที่จะใช้งานร่วมกับระบบขนส่งสาธารณะอื่น ๆ ได้